โรงงานของเรา
โรงงานปูนซีเมนต์พุกร่างของบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์จากสองสายการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 5 ล้านตันต่อปี โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ โดยในระยะแรกของการดำเนินงานนั้น โรงงานมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวม 2 ล้านตันต่อปี ต่อมาในปีพ.ศ. 2540 การก่อสร้างสายการผลิตที่สองซึ่งมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ 3 ล้านตันต่อปีแล้วเสร็จ ทำให้โรงงานปูนซีเมนต์พุกร่างมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 5 ล้านตันปูนซีเมนต์ต่อปี การผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานพุกร่างทั้งสองสายการผลิตใช้กระบวนการผลิตแบบแห้ง (Dry Process) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการผลิตปูนซีเมนต์
เหมืองหินปูน
เหมืองหินปูนของบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่ตั้งโรงงานพุกร่าง หินปูนที่ได้จากการระเบิดหินจากภูเขาหินปูนยังมีขนาดใหญ่ จึงต้องนำไปลดขนาดโดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ลำเลียงไปยังเครื่องย่อย เพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตขั้นต่อไป
การย่อยและการกองเก็บวัตถุดิบ
โรงงานพุกร่างมีเครื่องย่อยขนาดหินปูนจำนวนสองเครื่อง ซึ่งสามารถย่อยก้อนหินปูนขนาดใหญ่ให้เหลือขนาด 80 มม. ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่กองเก็บวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบอื่นๆ ที่ผ่านการลดขนาดให้เหมาะสมแล้วก็จะถูกนำมาเก็บไว้ที่กองเก็บวัตถุดิบนี้เช่นกัน
หม้อบดวัตถุดิบ
จากกองเก็บวัตถุดิบ หินปูนและวัตถุดิบอื่นๆ จะถูกลำเลียงไปยังหม้อบดวัตถุดิบซึ่งมีลมร้อนจากหม้อเผาทำหน้าที่ไล่ความชื้น เพื่อทำการบดหินปูนและวัตถุดิบอื่นๆให้เป็นผงละเอียด วัตถุดิบที่ผ่านการบดละเอียดได้ขนาดตามที่ต้องการนี้เรียกว่า วัตถุดิบสำเร็จ (Raw Meal)
ยุ้งผสมวัตถุดิบสำเร็จ
วัตถุดิบสำเร็จจะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในยุ้งผสมวัตถุดิบสำเร็จเพื่อเก็บและผสมวัตถุดิบสำเร็จให้เป็นเนื้อเดียวกัน ยุ้งผสมวัตถุดิบสำเร็จของโรงงานพุกร่างมีขนาดบรรจุรวมทั้งสิ้น 70,000 ตัน
หม้อบดถ่านหิน
ถ่านหิน / ลิกไนต์จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการบดและไล่ความชื้นในหม้อบดถ่านหินแบบ Vertical Roller Mill ที่ใช้ความร้อนจากหม้อเผา
หม้อเผาแบบหมุน
วัตถุดิบสำเร็จจะถูกลำเลียงขึ้นไปบนหออุ่นซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไซโคลน (Cyclone) ที่มีลมร้อนไหลผ่านสวนกับวัตถุดิบเพื่อไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกจากวัตถุดิบสำเร็จและจะค่อยๆ เพิ่มความร้อนให้แก่วัตถุดิบสำเร็จ แล้วส่งวัตถุดิบสำเร็จไปเผาในหม้อเผาซึ่งมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนถึงประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีตามลำดับ จนในที่สุดกลายเป็นปูนเม็ด (Clinker)
หม้อเย็น
ปูนเม็ดที่ได้จะถูกส่งผ่านไปยังหม้อเย็นเพื่อทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส ในแต่ละหม้อเผาจะมีหม้อเย็นประจำอยู่หนึ่งเครื่อง
หม้อบดซีเมนต์
ขั้นตอนการบดปูนเม็ดให้กลายเป็นปูนซีเมนต์ ผลิตโดยนำปูนเม็ดมาผสมกับยิปซั่มและหินปูนตามสัดส่วน แล้วบดให้ละเอียดเป็นผงในหม้อบดซีเมนต์และโรลเลอร์เพรสซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวมสี่เครื่อง มีกำลังการบดซีเมนต์ได้สูงสุด 5.0 ล้านตันต่อปี
การบรรจุและการจ่ายสินค้า
ปูนซีเมนต์ที่ได้จากหม้อบดซีเมนต์จะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในยุ้งปูนผง เพื่อพร้อมที่จะจ่ายให้กับลูกค้าต่อไป โรงงานปูนซีเมนต์พุกร่างมีเครื่องบรรจุปูนซีเมนต์ถุงสองเครื่อง และมียุ้งปูนผงรวม 10 ยุ้งซึ่งสามารถเก็บปูนซีเมนต์ได้รวมทั้งสิ้น 100,000 ตัน
คุณภาพเหนือมาตรฐาน บริการประทับใจ
บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้นำเอาเทคโนโลยีและเครื่องจักรอันทันสมัยมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อให้ได้ปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ จากห้องควบคุมกลาง ซึ่งทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด
บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีระบบการจ่ายปูนซีเมนต์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วทันเวลา ด้วยกระบวนการผลิตและการจัดการด้านคุณภาพที่ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ทำให้บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการด้านคุณภาพสากล ISO 9001:2015 ในทุกกระบวนการ ทุกสายการผลิต และทุกผลิตภัณฑ์
สิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการแล้ว บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณที่ตั้งโรงงานเป็นอย่างมาก โดยการตรวจติดตามสิ่งที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะตามจุดสำคัญๆ ต่างๆ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีมลภาวะที่เกิดจากโรงงานไปรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณโรงงานและชุมชนใกล้เคียง และบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เพื่อเป็นการยืนยันว่าบริษัทฯมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามหลักสากล
บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้ทำการประเมินถึงปัญหาต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงงาน รวมทั้งจัดทำแผนงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อสนองตอบต่อความต้องการและความคาดหวังของชุมชนท้องถิ่น ที่มีต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
หลายปีที่ผ่านมานี้ บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้เน้นถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความรับผิดชอบของพนักงานทุกคน ที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ทำการตรวจติดตามการปล่อยทิ้งของเสียจากโรงงานอย่างต่อเนื่อง และ จัดทำรายงานผ่านทางระบบการรายงานข้อมูลกลางของบริษัทฯ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้เป็นไปตามข้อกำหนด ในพิธีสารของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความปลอดภัย
บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีถึงความสำคัญของสุขอนามัย และ ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่พนักงานทุกคน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสุขอนามัยและ ความปลอดภัยในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นได้ตลอดเวลา
นโยบายความปลอดภัยของบริษัทฯ ได้รับการนำไปปฏิบัติในสถานที่ทำงานทุกแห่ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวนี้ บริษัทฯ จึงได้นำเอามาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุดมาใช้ในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมปลอดภัยไว้ก่อนในหมู่พนักงาน ตลอดจนสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทฯ พนักงานของผู้รับเหมาที่ทำงานให้แก่บริษัทฯ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องของความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การทำให้บริษัทฯ เป็นองค์กรปลอดอุบัติเหตุ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จัดให้มีการตรวจประเมินการดำเนินงานตามนโยบายความปลอดภัย ของหน่วยงานต่างๆ ในบริษัทฯ เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมเพื่อสังคม
นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเป็นต้นมา บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์และกิจกรรมเพื่อชุมชนมากมายหลายหลากอย่างต่อเนื่องตลอดมา อาทิ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน การสร้างและสนับสนุนกิจการห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดชุมชน การสร้างถังเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน การสร้างสนามเด็กเล่น การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการแก่ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงงานโดยไม่คิดค่าตรวจรักษา การปลูกป่า การจัดโครงการผ้าป่าหนังสือเพื่อเด็กในชนบท เป็นต้น